“ต่อไปเมืองไทยจะมีสังฆราชขี้คุก” สมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ปรมาจารย์โหราศาสตร์ไทยลั่นอมตะวาจาปกาศิตไว้เช่นนี้ ใครกันหรือคือสังฆราชขี้คุกที่สมเด็จพระสังฆราชอยู่ท่านระบุไว้ในคำทำนาย และวาจาของท่านศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ จุลสารพระธรรมทูตจะพาท่านตามไปดู




สังฆมณฑลไทย นับตั้งแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยามา ต่างเกิดความผันผวนรวนเร เกิดความแตกแยก แก่งแย่งแข่งดี ชิงดีชิงเด่น เข่นฆ่า เล่นการเมืองทำลายกันในทุกวิถีทาง สาเหตุใหญ่ก็เพราะเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหนีมาบวช แล้วก็เอาผ้าเหลืองไปเล่นการเมือง เช่น การเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์รัชกาลที่ ๒๑ นั้น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกว่า



ลุศักราช ๙๖๔ ปีขาล จัตวาศก พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดระฆัง เพราะรู้พระไตรปิฎกสันทัด ได้สมณฐานันดรเป็นพระพิมลธรรม อนันตปรีชา ชำนาญทั้ง ไตรเพทางคศาสนะ มีศิษย์โยมมาก ทั้งจมื่นศรีสรรักษ์ก็ถวายตัวเป็นบุตรเลี้ยง ครั้งนั้นเชี่ยวชาญคนทั้งหลายนับถือมาก จึงคิดกันกับจมื่นศรีสรรักษ์แลศิษย์โยมเป็นความลับ ซ่องสุมพรรคพวกได้มากแล้วก็ปฏิวัติ เพลาพลบค่ำก็พากันไปซุ่มพล ณ ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ครั้งได้อุดมฤกษ์ก็ยกพลมาฟันประตูมงคลสุนทรเข้าไปได้ในท้องสนามหลวง ขุนนางที่นอนเวรเอาความมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตกพระทัยตะลึงไปเป็นครู่ จึ่งตรัสว่า "เวราแล้วก็ตามเถิด แต่อย่าให้ลำบากเลย"



พระพิมลธรรมเข้าในพระราชวังได้ ให้กุมเอาพระเจ้าแผ่นดินไปพันธนาการไว้ให้มั่นคง รุ่งขึ้นให้นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลร้อยหนึ่ง ให้ธูปเทียนสมาแล้ว ก็สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เอาพระศพไปฝังเสีย ณ วัดโคกพระยา พระศรีเสาวภาคอยู่ในราชสมบัติปีหนึ่งกับสองเดือน สมเด็จพระพิมลธรรมเสด็จขึ้นผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรม...”



พระพิมลธรรม ใช่ ! เป็นพระสงฆ์ แต่กระหายอำนาจทางการเมือง ถึงกับทำการปฏิวัติจับพระเจ้าแผ่นดินประหารชีวิตมาแล้ว พลิกประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยไปอีกหน้าหนึ่ง ถึงกึ่งกลางพุทธกาล ก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพียงเล็กน้อย ได้เกิดร่องรอยความอำมหิตทางการเมืองเข้าเข่นฆ่าพระภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงราชทินนามว่า “พระพิมลธรรม” ซ้ำรอยเดิม ต่างกันแต่เพียงว่า คราวนี้ พระพิมลธรรมรูปนี้ เป็นอัจฉริยบุคคลผู้มุ่งมั่นสรรสร้างงานพระศาสนา โดยมิได้กระหายอำนาจเช่นพระพิมลธรรมในอดีต



มีคนกระซิบผู้มีอำนาจในสมัยกึ่งพุทธกาลว่า “ให้ระวังพระพิมลธรรมรูปนี้ไว้ให้ดี เพราะในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา พระพิมลธรรมเคยทำการปฏิวัติล้มล้างกษัตริย์สำเร็จมาแล้ว” อันธรรมดาว่าคนมีอำนาจ เมื่อจะมีอะไรมาสั่นทอนกำลังก็ย่อมลังเลสงสัย กลายเป็นความหวาดระแวงไป ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ชิงฆ่าพระพิมลธรรมเสียก่อน ด้วยความหวาดกลัวในศักยภาพของพระพิมลธรรมนั่นเอง ข้อหา “ยุยง แนะนำเสี้ยมสอน โฆษณาชวนเชื่อ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร” คือข้อหาครอบจักรวาลที่รัฐบาลเผด็จการซึ่งหนุนหลังโดยคนนุ่งเหลืองห่มเหลืองกังฉินเป็นถึงระดับสมเด็จพระสังฆราช ได้ร่วมกันทำลายพระมหาเถระ ผู้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาพระมหาเถระทั้งปวงในอดีต



มีคำอาฆาตจากสังฆนายกในสมัยนั้นว่า “จะทำพระพิมลธรรมให้เป็นพระมหาอาจ แล้วจะทำพระมหาอาจให้เป็นนายอาจในที่สุด” และสังฆนายกองค์นี้แหละ ที่เคยปรามาสพระพิมลธรรมไว้ต่อหน้า ขณะพาพระภิกษุผู้กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศไปกราบลาว่า “ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว” สังฆนายกองค์นี้เช่นเดียวกัน ที่ภายหลังได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านเดินทางไปประชุมต่างประเทศ แต่ท่านพูด-อ่าน-ฟัง ภาษาอังกฤษไม่ได้ มีช่วงหนึ่งผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านได้กล่าวติดตลกขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ได้ปรบมือและหัวเราะกันเต็มห้องประชุม แต่สมเด็จพระสังฆราชของไทยที่อวดว่าการพระศาสนาของเราเจริญที่สุดในโลกกลับฟังไม่รู้เรื่อง ต้องเอียงหน้าถามบริวาร ครั้นได้ทราบว่าเขาพูดอะไร จะหัวเราะก็หัวเราะไม่ออก ด้วยพระอัจฉริยภาพจึงกล่าวว่า “หัวเราะทีหลัง ขายขี้หน้าเขา” ต่อจากนั้นจึงทรงกลับพระทัยส่งเสริมให้พระเณรศึกษาภาษาต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นทรงขัดขวางและทำลายพระพิมลธรรมมาแล้ว เรื่องนี้ยาวมาก เป็นคดีประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนาที่น่าศึกษาที่สุด จะว่าหนูล้มช้างก็ว่าได้ เพราะผลปรากฏในภายหลังว่าคณะสังฆมนตรี นับถึงสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นต่างใช้อำนาจผิด หรือทำนอกเหนืออำนาจทั้งสิ้น แต่ก็อย่างว่าแหละท่าน เมื่อคนส่วนใหญ่ทำผิดก็ย่อมจะกลายเป็นถูก แต่ถ้าคนส่วนน้อยทำถูก ก็ไม่แน่นักว่าจะถูกจริง ทั้งนี้เพราะมิได้ใช้พระธรรมวินัยอย่างซื่อสัตย์ซื่อตรง เอาแต่เล่นพรรคเล่นพวก เห็นประโยชน์ส่วนตนสำคัญกว่าประโยชน์ของพระศาสนาโดยรวม แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้เห็นดื่นไป



พระพิมลธรรม นามเดิมท่านชื่อ อาจ นามสกุล ดวงมาลา เป็นชาวบ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เกิดวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๖ บิดา-มารดา ชื่อคุณพ่อพิมพ์ คุณแม่แจ้ ดวงมาลา บรรพชาเมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ณ วัดศรีจันทร์ มีเจ้าอธิการหน่อ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ร่ำเรียนเขียนอ่านอักษรลาวและไทยควบคู่กันไป โดยมีคู่มือคือคัมภีร์ใบลาน จุดหักเหในชีวิตของพระเดชพระคุณนั้น มาจากประกาศของทางการบ้านเมือง ให้พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ผู้รู้ภาษาไทยพออ่านออกเขียนได้ให้เข้ารับการอบรมวิชาครู เพื่อจะได้บรรจุเป็นครูประชาบาล สามเณรอาจได้เข้าสมัครอบรมกับเขาด้วย อบรมอยู่ ๑ ปีมีการสอบไล่วัดผล ปรากฏว่าจากจำนวนผู้เข้าอบรมกว่า ๗๐ คน สามเณรอาจอายุเพียง ๑๕ ปี สามารถสอบไล่ได้อันดับที่ ๔ จึงได้รับการบรรจุเป็นครูประชาบาลประจำตำบลเมืองเก่า รับเงินเดือนๆ ละ ๖ บาท



ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๖๓ ท่านดำริว่า “ตัวเรานี้มีความรู้เพียงน้อยนิด ควรจะศึกษาร่ำเรียนแสวงหาความรู้มากขึ้น” จึงตัดสินใจลาออกจากครูประชาบาล เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยพระภิกษุ ๒ รูป สามเณรอีก ๑ องค์



เจ้าอธิการสี พระสังข์ สามเณรสาร และสามเณรอาจ ออกเดินทางเท้าเปล่าจากบ้านโต้น มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครราชสีมา อันเป็นต้นทางรถไฟ ใช้เวลา ๙ วันจึงถึงสถานีโคราช ค้างแรม ๑ คืน จึงต่อรถไฟมุ่งสู่

หัวลำโพง



พอถึงสถานีกรุงเทพฯ คณะทั้งสี่ต่างก็แยกย้ายกันไป พระอธิการสีไปอยู่ราชบุรี พระสังข์ไปอยู่วัดพระยายัง สามเณรสารหนีกลับบ้านขอนแก่น ส่วนสามเณรอาจได้รับการฝากฝังจากพระครูพิศาลอรัญเขต ซึ่งเป็นน้า ให้เข้ารับการศึกษา ณ สำนักวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู



แต่ปรากฏว่า เวลานั้นกุฏิในวัดบวรนิเวศไม่ว่าง สามเณรอาจจึงไปพักอยู่กับพระอาจารย์ทองคำที่วัดชนะสงครามเป็นการชั่วคราว เดินเท้าไปเรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุ ถึงออกพรรษา เรียนบาลีไวยากรณ์ชั้น 6 พระครูธรรมธร วัดบวรนิเวศมาตามว่ากุฏิที่วัดบวรว่างแล้ว ให้กลับไปอยู่ได้ แต่สามเณรอาจตอนนั้นกำลังติดพันการเรียนอยู่ จึงได้ขอร้องท่านพระครูธรรมธรได้ช่วยนำไปฝากศึกษาอยู่ที่วัดมหาธาตุด้วย ซึ่งท่านพระครูธรรมธรก็ตามใจ ได้กรุณานำไปฝากกับเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี ป.ธ.9) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุในขณะนั้นด้วยตนเอง นี่คือเส้นทางการเดินเข้าสู่สังกัดวัดมหาธาตุของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) ซึ่งครั้งหลังสุดได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาขึ้นดำรงยศชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระพุฒาจารย์



และจากนั้นอัจฉริยภาพของสามเณรอาจ ดวงมาลา ก็ฉายแววแพรวพราว พ.ศ.2464 สอบได้นักธรรมตรี ปีต่อมาได้นักธรรมโท ปีรุ่งขึ้นสอบได้เป็นสามเณรเปรียญ 3 ประโยค ซึ่งปีนี้ท่านมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุ มีพระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา อาสโภ อีกปีหนึ่งพระมหาอาจสอบติดประโยค 4 ปีต่อมาได้ 5 ประโยค ถึงปี 2471 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และประโยค ๗ และปี 2472 ท่านก็ครองพัดยศเปรียญ 8 ได้



แต่เหมือนฟ้าลิขิต คือครั้นสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยคแล้ว แม้จะเพียรพยายามเพียงใด ก็ยังหาสามารถสอบไล่เปรียญธรรม 9 ประโยคได้ไม่ ใช้เวลาถึง 2 ปี สุดท้ายงานพระศาสนาก็มาพรากท่านไปจากวงการศึกษา นั่นคือได้รับการอาราธนาจากรัฐบาลและคณะสงฆ์ให้เป็นวิทยากรตระเวนออกเทศน์อบรมศีลธรรมแก่ประชาชน ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และสระบุรี ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.2475 และอีกสองปีต่อมา พระมหาอาจได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เลื่อนยศขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนาม “พระศรีสุธรรมมุนี” ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 31 ปี พรรษา 11



ปี พ.ศ.๒๔๗๖ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี ป.ธ.๙) ได้ส่งพระมหาอาจ อาสโภ ไปดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม และรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นพระมหาอาจก็เจริญรุ่งเรืองในตำแหน่งและหน้าที่การงานตามลำดับ ปี ๒๔๘๒ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา



ถึงตอนนี้ก็มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยเกิดขึ้น นั่นคือการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองโดยคณะราษฎร์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ประเทศไทยจึงเข้าสู่ยุคใหม่ยุคประชาธิปไตย



เมื่อทางโลกเปลี่ยน ทางวัดก็ต้องเปลี่ยน เพราะเหมือนกางเกงสองขา จะเปลี่ยนเพียงข้างเดียวก็ทำไม่ได้ กิจการคณะสงฆ์ไทยจึงได้รับการปรับปรุงใหม่ รัฐบาลประชาธิปไตยได้ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทย พ.ศ.๒๔๘๔ มีสาระสำคัญคือให้พระสงฆ์ไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่เดิมมาคือตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ คณะสงฆ์ไทยใช้พระราชบัญญัติ ร.ศ.๑๒๑ ซึ่งมีสาระว่าด้วยการยกพระภิกษุไทยที่ไปเข้ารีตมอญเรียกตัวเองว่า “ธรรมยุติ” ให้ขึ้นเป็นคณะธรรมยุติกนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจากนั้นก็เป็นรายการซ้ายพิฆาตขวาคือคณะสงฆ์ธรรมยุติสามารถปกครองมหานิกายได้ แต่มหานิกายไม่มีสิทธิปกครองธรรมยุติ แถมธรรมยุติยังตีกินตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๘๔ ปี โดยที่พระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกายไม่มีสิทธิ์แตะเก้าอี้ตัวนี้ เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ คณะพระภิกษุหนุ่มมหานิกาย ที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” จึงได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพอันเท่าเทียมกัน จนนำไปสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ นั่นคือรัฐสภาไทยได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ประกาศใช้ในพระปรมาภิธัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระมหานิกายได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช



สาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ก็คือ ให้มีการแยกอำนาจคณะสงฆ์ออกเป็น ๓ ทาง เหมือนในทางบ้านเมือง คือ มีสังฆสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๔๕ รูป มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆาณัติ และควบคุมหรือคานอำนาจของฝ่ายสังฆมนตรี ประธานสังฆสภาเทียบเท่าตำแหน่งประธานรัฐสภาในฝ่ายโลก



มีคณะสังฆมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีฝ่ายสงฆ์ ประธานสังฆมนตรีเรียกว่าสังฆนายก เทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้งปวง แบ่งออกเป็น ๔ องค์การ หรือ ๔ กระทรวงหลัก คือ องค์การปกครอง เทียบเท่ากับกระทรวงมหาดไทย องค์การศึกษา เทียบเท่ากระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงธรรมการในอดีต องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ สององค์การหลังนี้นึกเทียบกระทรวงไม่ออก



มีคณะวินัยธร ได้แก่คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีต่าง ๆ ในทางสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา เหมือนตุลาการศาลทางโลก มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีต่าง ๆ



นอกจากนั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมีมาตราพิเศษ กำหนดให้มีการรวมนิกายสงฆ์ทั้งสองเข้าด้วยกัน มีระยะเวลาดำเนินการนาน ๘ ปี ซึ่งต่อมาเมื่อถึงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ โดนฉีกทิ้ง การรวมนิกายก็กระจุย กระจายไปตามอำนาจทางการเมืองด้วย



ทีนี้ก็มาเดินเรื่องพระพิมลธรรมกันต่อ เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ ออกมาแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย นั่นคือหาพระสงฆ์มาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ พระมหาอาจ ซึ่งบัดนี้ดำรงยศเจ้าคุณชั้นสามัญชื่อพระศรีสุธรรมมุนี จึงได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกสังฆสภาชุดแรกในจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น ๔๑ รูปด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๘๘ พระศรีสุธรรมมุนี ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา และเป็นแม่กองธรรมสนามหลวงอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย





กลับวัดมหาธาตุ ฯ



พ.ศ. ๒๔๙๑ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ รูปที่ ๑๕ ได้ถึงแก่มรณภาพลง หาพระภิกษุผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งไม่ได้ คณะสงฆ์วัดมหาธาตุทั้งปวง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กราบอาราธนาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.๘) วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิษย์วัดมหาธาตุ กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงอันดับที่ ๑ ของประเทศไทย และเพียงแค่ย่างขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุเท่านั้น ความยิ่งใหญ่ของพระธรรมไตรโลกาจารย์ก็แรงรุ่ง



ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๒ พระธรรมไตรโลกาจารย์ อายุ ๔๖ พรรษา ๒๖ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะในราชทินนาม “พระพิมลธรรม” ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม









ปฏิวัติการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย







ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน

การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว !





เป็นถ้อยคำปรามเปรียบจากสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.๙) วัดเบญจมบพิตร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านลั่นวาจาไว้ต่อหน้าพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) และพระนิสิตหนุ่มหลายรูป ผู้กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ



ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า เกิดการต่อสู้หรือขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในด้านนโยบายการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทย ถ้าจะเปรียบก็คือความขัดแย้งระหว่างฝ่ายหัวก้าวหน้ากับพวกอนุรักษ์นิยม และแน่นอน สมเด็จปลด วัดเบญจมบพิตรย่อมจะอยู่ทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกินร้อย



พระพิมลธรรมดำเนินนโยบายเสรีทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในวงการคณะสงฆ์ไทย ส่งพระภิกษุไปศึกษาต่อไปต่างประเทศ เช่น พม่า อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะประเทศพม่า นับว่าได้รับความสนใจจากพระพิมลธรรมมากที่สุด เพราะนอกจากจะส่งพระมหาบำเพ็ญ พระมหาไสว พระมหาแสวง ไปศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังส่งพระมหาโชดก ป.ธ.๙ ให้ไปสืบเอาแบบปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสติปัฏฐาน ๔ กลับมายังเมืองไทยด้วย



“พระพม่าเก่งอภิธรรม พระเขมรเก่งวินัย พระไทยเก่งพระสูตร” เป็นคำจำกัดความมาเนิ่นนาน พระไทยที่ไปพม่านอกจากจะไปเรียนพระอภิธรรมแล้ว ยังไปรับเอาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแนวมหาสติปัฏฐานมาอีก และไทยกับพม่านั้น อ่านดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่เริ่มสร้างชาติ ก็ย่อมจะเห็นพม่าเป็นศัตรูคู่อาฆาต ตีกรุงศรีอยุธยาแตกถึงสองครั้งสองหน สุดท้ายสงคราม ๙ ทัพ ในรัชกาลที่ ๑ ก็ยังฝังตรึงแน่นในจิตใจคนไทยทั้งชาติ ไม่เว้นแม้ผู้อยู่ในผ้าเหลือง



พูดให้ชัดก็คือ คนไทยแอนตี้พม่ามาแต่ดึกดำบรรพ์แบบเกลียดเข้าใส้ อย่างกรณีนายประชา มาลีนนท์ อาศัยอำนาจรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งนายไบรอัน มาร์คาร์ เชื้อชาติพม่าเข้าไปเป็นบอร์ดการบินไทย ก็ถูกพนักงานการบินไทยประท้วงทุบรถจนเสียหาย สุดท้ายก็ตั้งไม่ได้ นี่ว่ากันถึงความเกลียดพม่าจนเข้าใส้ของคนไทยใน พ.ศ.นี้ ปี 2001



เมื่อพระไทยเกลียดพระพม่า ก็ย่อมจะเกลียดทุกอย่างไปด้วย ตามสไตล์ไทย ๆ ที่พอคบใครก็จะรักเขาเอาทั้งหมด แต่ลองบทโกรธเกลียดขึ้นมาแล้ว หมาแมวก็เหมาเกลียดไปด้วย อย่านับแต่เพื่อนฝูงคนสนิทเลย ดังนั้นเรื่องพระพิมลธรรมไปเอาวัฒนธรรมการศึกษาของพม่ามาเชิดชู ถึงแม้จะดี แต่ว่าพระไทยส่วนใหญ่มีอคติ สุดท้ายก็กลายเป็นต้องเกลียดพระพิมลธรรมไปด้วย กระแสเรื่องนี้ท่านผู้อ่านก็คงมองเห็น จากเรื่องพระพิมลธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงพระพิมลธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ ประวัติพระพิมลธรรมทั้งสองรูปจึงถูกนำมาประติดประต่อส่อฟ้องผู้มีอำนาจในขณะนั้น นั่นคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์



ด้านพระสงฆ์เอง เมื่อพระพิมลธรรมได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการปกครอง ซึ่งมีอำนาจวาสนาบารมีมากที่สุด ก็เลยกลายเป็นที่อิจฉาไป เพราะไม่ว่าใครก็อยากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อพระพิมลธรรม ดี เด่น ดัง อยู่คนเดียว แถมยังกินรวบ เป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เป็นสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งประเทศไทย เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกลส่งพระไทยไปเรียนเมืองนอก และ ฯลฯ เรียกว่ามีทั้งอำนาจวาสนาและบารมี ยศพระพิมลธรรมนั้นเป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าปรับขึ้นอีกขั้นเดียวก็ขึ้นเป็นสมเด็จแล้ว ขณะที่ดำรงยศพระพิมลธรรมนั้น ท่านมีอายุเพียง ๔๖ ปีเท่านั้น



ด้านบ้านเมือง วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ระเห็จออกนอกประเทศ ภายหลังพระพิมลธรรมเดินทางไปประชุมที่ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบจอมพล ป.ด้วย ตรงนี้ก็ถูกนำมากล่าวหาว่าคิดล้มล้างรัฐบาล (เผด็จการ) นอกจากนั้นรัฐบาลเผด็จการยังฉีกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทิ้ง สร้างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นมา ให้ชื่อว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทย พ.ศ.๒๕๐๕ มีลักษณะเป็นเผด็จการตามเดิม



ขณะที่พระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองอยู่นั้น รัฐบาลได้พยายามขอร้องทางฝ่ายสงฆ์ให้ช่วยป้องกันคนเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงขนาดว่าขอให้ทางพระช่วยออกกฎหมายคณะสงฆ์ห้ามมิให้คนที่มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์บวช และเรื่องก็มาติดที่พระพิมลธรรมอีก ท่านให้เหตุผลว่า ทางการคณะสงฆ์ไม่สามารถอำนวยตามรัฐบาลได้ เพราะว่าความเป็นคอมมิวนิสต์นั้นเป็นพฤติกรรมทางด้านจิตใจ ไม่แสดงออกมาทางร่างกาย จึงสังเกตเห็นได้ยาก หากจะให้ทางการคณะสงฆ์ออกกฎห้ามมิให้ผู้มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์บวชแล้วไซร้ ก็เห็นควรให้ทางรัฐบาลช่วยออกหนังสือรับรองว่าบุคคลใดบ้างที่มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ ??? เล่นถอนสายบัวเช่นนี้ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ก็อาย ม้วนเสื่อกลับพร้อมด้วยเก็บเป็นแผลไว้ในใจ เพื่อรอวันพิฆาตพุทธสาวกนามว่า พระพิมลธรรม



เหตุปัจจัยเหล่านี้จึงกลายเป็นศัตรูตัวร้าย ส่งผลให้ท่านต้องถูกปลดจากทุกตำแหน่ง ถูกถอดถอนสมณศักดิ์ ถูกจับสึก และถูกจำคุกสันติบาลอยู่นานนับ ๔ ปี อะไรที่ว่าสุดๆ ก็คงจะไม่เทียมเท่าชีวประวัติของพระพิมลธรรม เรื่องราวยังอีกยาวนาน ขอแฟน ๆ จุลสารพระธรรมทูตได้โปรดติดตามในตอนต่อไป ขอรับประกันความเข้มข้นว่าไม่แพ้กระทิงแดงแน่นอน